TFAC LOGO
ขั้นตอนการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Due Process)
13/02/2567 36,752

           ในปัจจุบันคำว่า “มาตรฐานการรายงานทางการเงิน” (TFRS) เป็นคำที่เรียกกันอย่างแพร่หลายในวงการวิชาชีพบัญชีรวมถึงบริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหลายท่านคงมีคำถามในใจว่า TFRS คืออะไรมีความสำคัญอย่างไร จัดทำโดยใคร และจัดทำอย่างไร ดังนั้น สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ซึ่งมีการกำหนดพันธกิจอย่างชัดเจนในการพัฒนามาตรฐานสำหรับการประกอบวิชาชีพบัญชีสู่ระดับสากลจึงได้มีการปรับปรุงและเผยแพร่กระบวนการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Due process) เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทุกภาคส่วน สามารถเข้าใจและนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (“มาตรฐานฯ”) ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และช่วยให้เกิดความโปร่งใสและรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง

TFRS คืออะไร?

            ก่อนอื่น เรามาเริ่มทำความรู้จักกับคำว่า TFRS คืออะไร โดย TFRS คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย โดยเป็นตัวย่อมาจาก Thai Financial Reporting Standards ซึ่งถือว่าเป็นภาษาทางธุรกิจและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ช่วยสื่อสารและรวบรวมธุรกรรมที่เกิดขึ้นประจำวันออกมาเป็นรูปแบบงบการเงินที่อ่านและเข้าใจง่ายแก่นักลงทุน ตลอดจนผู้ใช้รายงานทางการเงินกลุ่มอื่นๆ เช่น สถาบันการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงิน กรมสรรพากร เป็นต้น

TFRS สำคัญอย่างไร?

            TFRS มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยธุรกิจจะมีธุรกรรมประจำวันเกิดขึ้น ได้แก่ รายการซื้อ รายการขาย รายการรับชำระเงิน และรายการจ่ายชำระเงิน รวมถึงมีธุรกรรมเกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น การควบรวมกิจการ เป็นต้น ธุรกรรมเหล่านั้นสามารถสะท้อนเนื้อหาที่แท้จริงของรายการแสดงอยู่ในรูปแบบของงบการเงินได้โดยใช้แนวทางที่กำหนดไว้ใน TFRS โดย TFRS จะกำหนดแนวทางในการรับรู้และวัดมูลค่าของรายการธุรกรรมต่างๆ ในงบการเงิน

TFRS จัดทำโดยใคร?

            TFRS จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี (Thai Accounting Standards-Setting Committee)ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบัญชี มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 ท่าน โดยพิจารณาจากผู้ปฏิบัติทางบัญชี สำนักงานงานสอบบัญชี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุนหน่วยงานกำกับดูแลทั้งภาครัฐและตลาดทุน รวมถึงมุมมองจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

TFRS จัดทำอย่างไร?

            หลายท่านคงเคยได้ยินว่าการจัดทำ TFRS เป็นเพียงการแปลจาก IFRS (International Financial Reporting Standards) แล้วทำไมสภาวิชาชีพบัญชีจึงปรับปรุง TFRS ทุกปี แต่เบื้องหลังแล้วการจัดทำมาตรฐานฯ แต่ละฉบับ มีกระบวนการจัดทำมาตรฐานฯ ที่โปร่งใสโดยผ่านการสัมมนาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีการกลั่นกรองข้อสังเกตประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำมาตรฐานฯ ไปปฏิบัติจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองมาตรฐานการบัญชี คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี และคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี โดยในฉบับนี้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีขอนำเบื้องหลังการจัดทำมาตรฐานฯ มาเปิดเผยให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และให้ทุกท่านสามารถศึกษามาตรฐานฯได้ล่วงหน้าก่อนที่สภาวิชาชีพบัญชีจะประกาศใช้โดยกระบวนการจัดทำมาตรฐานฯ มีการดำเนินการเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้  

          1. การศึกษา วิจัย และติดตาม คณะอนุกรรมการศึกษาและติดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศจะได้รับข้อมูลรายงานการอภิปราย (Discussion paper) หรือร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) ที่เปิดเผย (Exposure Draft) ของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) ซึ่งทาง IASB จะมีการขอความเห็น (Comment letter) จากแต่ละประเทศประมาณ 4 เดือน คณะอนุกรรมการศึกษาและติดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศจะดำเนินการศึกษาและพิจารณาเนื้อหาของ IFRS ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยวิเคราะห์กับหลักการบัญชี (Research program on the effect of IFRS adoption) และเผยแพร่สรุปเนื้อหาและผลการศึกษาผลกระทบของร่าง IFRS ดังกล่าว

          2. การวางแผนงานในการจัดทำ TFRS คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีวางแผนในการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงินในช่วงเวลาต้นเดือนมกราคมของทุกปี โดยพิจารณาจากแผนการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) ของ IASB (Work plan) ที่มีการยกร่างและมีการเผยแพร่มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับสมบูรณ์ ซึ่งโดยปกติ IASB จะประกาศเผยแพร่มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ อย่างน้อย 9 เดือน ถึง 4 ปี ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่มีการปรับปรุงและความซับซ้อนของหลักการ

          3. การจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยยกร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นภาษาไทยจาก IFRS ที่เป็นภาษาอังกฤษ และนำผลการศึกษาผลกระทบของร่าง IFRS ในการนำมาใช้ในประเทศไทยจากข้อ 1 มาประกอบการพิจารณายกร่าง โดยในกรณียกร่างที่เป็นฉบับใหม่ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนนับจากวันที่ได้รับมาตรฐานการรายงานทางการเงินต่างประเทศ (IFRS) และในกรณีที่เป็นฉบับปรับปรุงจากฉบับเดิม จะใช้ระยะเวลายกร่างประมาณ 1 เดือน นับจากวันที่ได้รับ IFRS

          4. การจัดสัมมนาทำความเข้าใจ สัมมนาพิจารณ์ หรือสื่อสารให้สาธารณชนรับรู้เป็นการทั่วไปในร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีเผยแพร่ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับภาษาไทยทางเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี และดำเนินการจัดสัมมนาทำความเข้าใจ หรือสัมมนาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินไปใช้ ซึ่งมีระยะเวลาในการจัดสัมมนาโดยประมาณ 1 เดือน

          5. การนำเสนอร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินต่อคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการตามลำดับ ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีกำหนดและปรับปรุงจะเสนอต่อคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการซึ่งในการเสนอร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินต่อคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการโดยปกติอาจใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
          5.1 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองมาตรฐานการบัญชี เสนอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
          5.2 คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เสนอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีอาจเสนอร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อรับทราบและรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีหรือไม่ก็ได้

          ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกบ. และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ โดยจะเผยแพร่ในเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี

          6. กระบวนการหลังจากที่มาตรฐานได้รับการเผยแพร่ หลังจากที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คณะอนุกรรมการด้านเทคนิคมาตรฐานการบัญชีจะจัดทำหรือปรับปรุงคู่มืออธิบายมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวเพื่อสรุปการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป 

Due Process ที่ปรับปรุงใหม่  Click 

          สุดท้ายนี้ การปรับปรุง Due Process ใหม่ของสภาวิชาชีพบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำมาตรฐานฯ ไปใช้สามารถเข้าใจ และเตรียมข้อมูลสำหรับการปรับปรุงมาตรฐานฯ ใหม่ ล่วงหน้าก่อนที่มาตรฐานฯ จะมีผลบังคับใช้