ฉบับนี้ขอเล่า ISQC1 ภาค2 ต่อนะครับ ฉบับที่แล้วเพื่อน ๆ รู้ที่มาและวันที่ถือปฏิบัติของมาตรฐานนี้แล้ว ฉบับนี้จะเม้าท์แบบไม่เม้มถึงเนื้อหา เพื่อให้เพื่อน ๆ รู้จักมาตรฐานการควบคุมคุณภาพมากขึ้นเผื่อเตรียมการแต่เนิ่น ๆ จะได้มีความพร้อมเป็น สนง.สอบบัญชีระดับสากลแล้วยังก้าวทันเป็นตัวเลือกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ด้วย (2 เด้ง) เพื่อน ๆบางคนบอกว่าไม่ต้องการเป็น สนง.สากล เพราะมีความฝันแค่เป็นผู้สอบบัญชีแบบบ้าน ๆ ก็ไม่ต้องทำตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพก็ได้ใช่ไหม… ขอตอบว่าไม่ว่าบ้าน ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม หรือ ออฟฟิศ ท่านก็ต้องทำตาม ISQC1 (หรือมาตรฐานไทยเรียกว่า TSQC1) ครับ… เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า
TSQC1 มีเป้าหมายต้องการให้ สนง.มีระบบควบคุมคุณภาพเพื่อให้ผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานตามมาตรฐานการสอบบัญชีและตามข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกรายงานผู้สอบบัญชีได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมี 6 เรื่องใหญ่ในมาตรฐานนี้ ดังนี้ 1) ความรับผิดชอบของผู้นำต่อคุณภาพ 2) การทำตามจรรยาบรรณและความเป็นอิสระ 3) การพิจารณาการรับงานใหม่หรือทำงานเดิมต่อไป 4) ระบบเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล 5) การปฏิบัติงาน และ 6) การติดตามผล… หลายคนบอกว่า สนง.ก็มีระบบบางเรื่องบ้างแล้ว ยิ่งเล็กต้องขอแสดงความยินดีด้วยครับ แต่ขอเน้นว่า สนง.ต้องจัดทำเป็นนโยบายและวิธีปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วมีการสื่อสารให้ทุกคนใน สนง.ทราบด้วย
ในแต่ละเรื่องยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายซึ่งเพื่อน ๆ หาอ่านได้ในมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ ฉบับที่ 1ซึ่งสภาฯ ได้จัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแล้วหรือจะหาอ่านจากเว็บไซด์ของสภาฯ ก็ได้ครับ เพื่อน ๆ หลายคนมีความกังวลกับการ implement ระบบควบคุมคุณภาพ โดยเฉพาะ สนง.ขนาดกลางและเล็ก เพราะเป็นเรื่องใหม่และติดปัญหาเรื่องบุคลากรจำกัดด้วย... ยิ่งเล็กต้องขอเน้นว่านกน้อยทำรังแต่พอตัว แล้วค่อย ๆ ปรับปรุงได้ครับ… กสบ.เข้าใจประเด็นนี้อยู่ครับและกำลังคิดร่างแผนงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อน ๆ อยู่ครับ