TFAC LOGO
สรุปการเปลี่ยนแปลงในฉบับปรับปรุง 2563
13/08/2563 10:30:37

สรุปการเปลี่ยนแปลงในฉบับปรับปรุง 2563

กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน
            กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน ประกอบด้วย คำนิยามที่ทันสมัยของสินทรัพย์และหนี้สิน เกณฑ์ที่ทันสมัยในการรวมสินทรัพย์และหนี้สินในงบการเงิน นอกจากนี้ยังรวมถึงหลักการใหม่ และแนวปฏิบัติที่ได้ถูกเพิ่มเติมเข้าไป ดังต่อไปนี้

  1. การวัดมูลค่า ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเลือกเกณฑ์ในการวัดมูลค่า
  2. การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งรวมถึงเมื่อใดที่จะจัดประเภทรายการรายได้และค่าใช้จ่ายในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
  3. กิจการที่เสนอรายงาน และ
  4. เมื่อใดสินทรัพย์และหนี้สินจะถูกเอาออกจากงบการเงิน

            กรอบแนวคิด ยังได้อธิบายให้ชัดเจนขึ้นถึงบทบาทของความสามารถของฝ่ายบริหารในการดูแลรักษาทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจของกิจการ ความระมัดระวัง และความไม่แน่นอนของการวัดมูลค่าในการรายงานทางการเงิน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

การปรับปรุงการอ้างอิงกรอบแนวคิดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
            มาตรฐานการรายงานทางการเงินบางฉบับประกอบด้วยการอ้างอิงหรือการอ้างถึง “IASC’s Framework for the Preparation and Presentation of Financial Statements” ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (“คณะกรรมการ”) นำมาถือปฏิบัติในปี 2001 หรือ “กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน” ซึ่งออกโดยคณะกรรมการในปี 2010 การปรับปรุงการอ้างอิงกรอบแนวคิดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินได้ปรับการอ้างอิงหรือการอ้างถึงบางส่วนที่กล่าวข้างต้นให้เป็นปัจจุบัน โดยการอ้างถึง “กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน” ของปี 2018 และทำการปรับปรุงอื่นๆ เพื่ออธิบายให้ชัดเจนขึ้นว่าเอกสารแต่ละฉบับนั้นเป็นการอ้างอิง “กรอบแนวคิด” ของปีใด

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

คำนิยามของธุรกิจ
            คำนิยามของธุรกิจ ที่ปรับปรุงในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 3 เรื่อง การรวมธุรกิจ ได้อธิบายให้ชัดเจนขึ้นถึงคำนิยามของธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้กิจการใช้ในการกำหนดว่ารายการค้านั้นต้องบันทึกรายการเป็น “การรวมธุรกิจ” หรือ “การซื้อสินทรัพย์” หรือไม่ การปรับปรุงมีดังนี้

  1. อธิบายให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องการพิจารณาว่าเป็น “ธุรกิจ” นั้น กลุ่มของกิจกรรมและสินทรัพย์ที่ได้มาต้องรวมถึงข้อมูลปัจจัยนำเข้าและกระบวนการที่สำคัญเป็นอย่างน้อยซึ่งเมื่อนำมารวมกันมีส่วนอย่างมีนัยสำคัญทำให้เกิดความสามารถในการสร้างผลผลิต
  2. ตัดรื่องการประเมินว่าผู้ร่วมตลาดสามารถทดแทนปัจจัยนำเข้าหรือกระบวนการที่ขาดหายไปใดๆ และสร้างผลผลิตต่อไปได้ ออกจากมาตรฐานฯ
  3. เพิ่มแนวปฏิบัติและตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจเพื่อช่วยให้กิจการประเมินว่ากระบวนการที่สำคัญได้ถูกซื้อหรือไม่
  4. ทำให้นิยามของธุรกิจและนิยามของผลผลิตแคบลง โดยการให้ความสนใจในตัวของสินค้าและบริการที่ให้กับลูกค้า และตัดเรื่องการอ้างอิงความสามารถในการลดต้นทุนออกจากมาตรฐานฯ และ
  5. เพิ่มเรื่องการทดสอบความตั้งใจเป็นทางเลือก ซึ่งอนุญาตให้ทำการประเมินอย่างง่ายว่ากลุ่มของกิจกรรมและสินทรัพย์ที่ได้มาไม่ใช่ธุรกิจหรือไม่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 

คำนิยามของความมีสาระสำคัญ

            คำนิยามของความมีสาระสำคัญ ทำให้เกิดการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน และมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 8 เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด และทำให้เกิดการปรับปรุงซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องไปมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น
การปรับปรุงช่วยทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นของคำนิยามของความมีสาระสำคัญ โดย

  1. การทำให้คำนิยามเป็นแนวทางเดียวกันของมาตรฐานการรายงานทางการเงินและกรอบแนวคิดเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่อาจเกิดขึ้นจากความแตกต่างของคำนิยาม
  2. การรวมข้อกำหนดสนับสนุนเข้าไว้ด้วยกันของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ในคำนิยามเพื่อทำให้คำนิยามมีความชัดเจนมากขึ้นและอธิบายถึงการนำความมีสาระสำคัญไปประยุกต์ได้ชัดเจนขึ้น
  3. การนำแนวปฏิบัติที่มีอยู่ของคำนิยามของความมีสาระสำคัญมาไว้ในที่เดียวกัน ร่วมกันกับคำนิยาม

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 

การปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

            การปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ทำให้เกิดการปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 7 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน

            การปรับปรุงนั้นได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดของการบัญชีป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากการปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่กำหนดจากธุรกรรมการกู้ยืม (interbank offer rates – IBORs) นอกจากนี้ การปรับปรุงได้กำหนดให้กิจการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับนักลงทุนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการป้องกันความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความไม่แน่นอนใด ๆ นั้น